ยินดีต้อนรับ

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

ท่องเที่ยวเมืองนนท์

พิพิธภัณฑ์นนทบุรี


อาคารไม้หลังเก่าสถาปัตยกรรมตะวันตก ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ท่าน้ำนนทบุรี เป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดินให้กับชาวเมืองนนท์มาหลายยุคหลายสมัย ปัจจุบันยังคงหลอมรวมความหลากหลายของเมืองนนทบุรี บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังศึกษาในชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี"


ศิริพร ผลชีวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ จำกัด ผู้ดูแลออกแบบจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เล่าว่า เดิมอาคารไม้หลังเก่าสวยงามแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี 2453 แต่ขาดแคลนบุคลากร จึงตั้งเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย เปิดสอนในปีพ.ศ.2454 นานถึง 14 ปี หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต สภาพเศรษฐกิจไม่ดี จึงยุบโรงเรียนราชวิทยาลัยรวมเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้จึงไม่ได้ใช้ทำอะไร รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรีมาอยู่ที่นี่ และใช้เป็นสถานที่บริหารราชการนานถึง 64 ปี ต่อมากระทรวงมหาดไทยใช้เป็นวิทยาลัยมหาดไทย ของสถาบันดำรงราชานุภาพ นาน 16 ปี เทศบาลนครนนทบุรีจึงทำเรื่องขอจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องเมืองนนทบุรี ประวัติศาสตร์ พัฒนาการของเมืองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ศิริพรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสภาพเมืองนนทบุรีเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสภาพพื้นที่ที่เป็นสวนผลไม้กลายเป็นบ้านจัดสรร แต่นนทบุรียังมีของดีหลายอย่าง เช่น เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก มะปรางท่าอิฐ กระท้อนบางกร่าง และยังเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ นิทรรศการจะบอกเล่าเรื่องราวของชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่รวมกัน ตั้งแต่คนท้องถิ่นและชาวมอญ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชาวมุสลิม และคนจีนที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

ที่โดดเด่นคือชาวมอญเกาะเกร็ด แม้จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแต่ยังรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไว้ เช่น ประเพณีสงกรานต์ การเล่นสะบ้า เครื่องแต่งกายไว้อย่างเหนียวแน่น แม้แต่อาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่ออย่างทอดมันหน่อกะลา เป็นต้น เกาะเกร็ด ยังขึ้นชื่อเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา ทั้งโอ่ง อ่าง และหม้อน้ำลายวิจิตร ขณะที่บางตะนาวศรี ทำหม้อดิน หม้อข้าว หม้อแกง ของขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันโอ่งและอ่างลดความนิยมลง จึงหันมาทำของที่ระลึก ของแต่งบ้านแทน "เราอยากให้คนที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์รู้รากทางวัฒนธรรม เข้าใจถึงที่มาที่ไปของความเป็นเมืองนนท์ และรู้ว่ายุคสมัยและเงื่อนเวลาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เขาต้องช่วยกันคิดว่า อะไรต้องคงไว้หรือทำต่อไปเป็นข้อมูลคิดต่อในอนาคต" ภายในพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ชั้น 1 ห้องแรกเล่าถึงเรื่องราวของชาวนนทบุรี ที่อาศัยร่วมกันหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาวมอญ ชาวจีน มุสลิม มีเรือบดมอญ รูปร่างเพรียว จัดแสดงไว้ รวมถึงอุปกรณ์ใช้สอยทั้งในครัวเรือนและในสวน เช่น ขนาดใช้สาดน้ำให้กระจาย แครงตักน้ำรดเป็นจุด ตะขาบไล่กระรอก จำปาสอยมังคุด และตะกร้อเก็บมะม่วง ส่วนที่ห้องเกียรติยศแห่งนนทบุรี นำเสนอประวัติบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ ที่แม้จะถือกำเนิดในจังหวัดอื่น แต่มาเติบโตและสร้างชื่อเสียงอยู่ในเมืองนนท์ อาทิ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏิ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ครูสาคร ยังเขียวสด หรือโจหลุยส์ ผู้ฟื้นตำนานหุ่นละครเล็กของไทย ร.ต.ต.กาหลง พึ่งทองคำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ครูเฉลิม บัวทั่ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทยศิษย์ดุริยศัพท์ และริเริ่มประดิษฐ์อังกะลุงของไทย ครูวีระ มีเหมือน ผู้ทำตัวหนังใหญ่คนเดียวของนนทบุรี ฯลฯ ส่วนห้องสุดท้าย เล่าถึงอดีตสู่อนาคต ความเป็นมาของโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือ King"s College ของเมืองไทย ต่อมากลายเป็นศาลากลางจังหวัด วิทยาลัยมหาดไทย ก่อนเป็นพิพิธภัณฑ์ บนชั้น 2 มี 4 ห้อง โดดเด่นสะดุดตาด้วยตราประจำจังหวัดนนทบุรี ห้องซ้ายสุดบอกเล่าขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่ควายย่ำดิน ทำกลอน การขึ้นรูปขนาดต่างๆ การตกแต่งรูปทรงปั้น เล่าผ่านตุ๊กตาปั้นอากัปกิริยาต่างๆ ด้านล่างเป็นเครื่องไม้เครื่องมือใช้สอย และเตาเผาจำลอง ห้องขวาสุดแสดงเครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ชนิดต่างๆ ให้ชื่นชม โดยเฉพาะหม้อน้ำลายวิจิตรที่เคยใช้ในพระราชพิธี รวมถึงหม้อน้ำจากหงสาวดี หม้อน้ำลายวิจิตรทรง "เนิ่ง" เครื่องปั้นที่ตกแต่งด้วยการทาสีน้ำมันและเขียนลาย ซึ่งเปิดให้ชมตั้งแต่วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 10.00-18.00 น. หรือสอบถามโทร. 08-5984-4465 จากอาคารอายุ 100 ปีริมน้ำเจ้าพระยาที่ยังคงความงดงาม ผ่านกษัตริย์ 4 รัชกาล และกิจกรรมนับไม่ถ้วน ถึงวันนี้กลับมาทำหน้าที่เสมือนผู้อาวุโสเล่าเรื่องราวเก่าๆ ให้ลูกหลานได้ฟัง